Last updated: 22 ม.ค. 2557 | 5373 จำนวนผู้เข้าชม |
ตามกฎหมาย เมื่อชายหญิงตกลงปลงใจเป็นสามีภรรยากัน และผ่านการจดทะเบียนสมรสแล้ว ความผูกพันนี้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา 2 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัว คือ อยู่กินกันแบบสามีภรรยา ต้องอุปการะเลี้ยงดูกัน และความสัมพันธ์ทางด้านทรัพย์สิน ซึ่งแยกเป็น "สินสมรส" และ "สินส่วนตัว" …
สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สิน ข้าวของส่วนตัวต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ก่อนเดิม ก่อนแต่งงาน
สินสมรส คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาหลังแต่งงาน และสามีภรรยาเป็นเจ้าของร่วมกัน
ตามกฎหมายได้แจกแจงไว้อย่างละเอียดว่า สินส่วนตัว มี 4 ประเภท คือ...
1. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เงินทอง
2. ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือได้มาโดยเสน่หา
3. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เครื่องมือประกอบอาชีพ
4. ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น จะถือเป็นสินส่วนตัวของผู้หญิง
นอกจากนี้ ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น เปลี่ยนสภาพไป เช่น นำไปขายและได้เงินมา นำไปแลกหรือซื้อของอื่น ให้ถือว่าเงินหรือของที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวด้วย
สินสมรส แบ่งเป็น 3 ประเภท
1. ทรัพย์ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส
2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรม โดยระบุว่าให้เป็นสินสมรส
3. ทรัพย์สินที่เป็นกำไรสุทธิ หรือดอกผลของสินส่วนตัว
สิทธิการจัดการทรัพย์สิน กฎหมายถือให้ผู้เป็นเจ้าของมีอำนาจจัดการทรัพย์สินส่วนตัวได้โดยลำพัง สำหรับสินสมรส ถือเป็นทรัพย์สินร่วมกันคนละครึ่ง จึงให้สองฝ่ายจัดการร่วมกัน
สามีภรรยาสามารถแยกกันจัดการสินสมรสได้ 4 กรณี คือ...
1. เมื่อคู่สมรสตกลงแยกกันจัดการสินสมรสโดยการทำสัญญาก่อนสมรสไว้ก่อน
2. เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ อีกฝ่ายมีสิทธิร้องขอให้ศาลแยกสินสมรสได้
3. เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย จะมีผลให้สินสมรสแยกกันตามกฎหมาย
4. เมื่อมีการร้องขอต่อศาลให้แยกสินสมรสเพราะสาเหตุ เช่น อีกฝ่ายทำความเสียหายแก่สินสมรส ไม่อุปการะ เลี้ยงดู เป็นหนี้สินมากมาย หรือขัดขวางการจัดการสินสมรสโดยไม่มีเหตุอันควรและเมื่อมีการแยกสินสมรส ออกจากกันแล้ว สินสมรสส่วนที่แยกออกมาจะถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย รวมถึงทรัพย์สิน เช่น มรดก ดอกผลที่ได้มาหลังการแยกสินสมรสด้วย
การจัดการเรื่องหนี้สินของสามีภรรยาควรทำอย่างไร
เมื่อสามีภรรยาไปเป็นหนี้บุคคลภายนอก หากหนี้นั้นมีมาก่อนสมรสถือเป็นหนี้ส่วนตัว ให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบใช้ต่อเจ้าหนี้เป็นการส่วนตัวโดยใช้สินส่วนตัวมาก่อน ถ้าไม่พอจึงใช้จากสินสมรสที่เป็นส่วนของตนได้คือ ครึ่งหนึ่งของสินสมรส ในกรณีที่เกิดหนี้ระหว่างสมรสหนี้นั้นอาจเป็นหนี้ส่วนตัวค้างคามาหรือเป็นหนี้ร่วม สามีภรรยาต้องร่วมกันชดใช้เจ้าหนี้โดยใช้เงินทั้งจากสินสมรสและสินส่วนตัวได้ หนี้ที่เกิดระหว่างสมรส และถือเป็นหนี้ร่วมได้แก่ หนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดู รักษาพยาบาลคนในครอบครัว และให้การศึกษาบุตร หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส หนี้ที่เกิดจารการงานที่สามีภรรยาทำร่วมกันและหนี้ที่สามีหรือภรรยาก่อให้เกิดเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายยินยอมและรับรู้ด้วย 4 กรณีนี้สามีภรรยาต้องรับผิดชอบร่วมกัน
คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
การจัดการทรัพย์สินมีข้อแตกต่าง คือ ในแง่กฎหมายเพราะกฎหมายจะถือว่าคู่ที่อยู่กินกัน โดยไม่จดทะเบียนสมรสไม่เป็นคู่สมรสต่อกัน
บุตรที่เกิดมาเป็นของฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว และการอยู่ด้วยกันไม่มีผลให้เกิดสินส่วนตัวและสินสมรส แต่ในแง่ปฏิบัติ เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อป้องกันความแตกแยกในครอบครัว กฎหมายจึงถือให้ทรัพย์สินที่ฝ่ายชาย และหญิงลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่กินด้วยกันเป็นทรัพย์สินรวม ชายและหญิงเป็นเจ้าของร่วมกันและมีสิทธิ์ในทรัพย์สินคนละครึ่ง การลงทุนร่วมแรงโดยหลักหมายถึงการที่ชายและหญิงร่วมกันทำการค้า หรือดำเนินกิจการโดยเฉพาะเจาะจงแล้วได้ทรัพย์สินมา และในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่บ้านช่วยดูแลบ้าน และครอบครัวโดยอีกฝ่ายเป็นผู้ทำการค้าก็ถือว่าร่วมแรงทำมาหากินเช่นกัน ในทางกลับกัน ถ้าทรัพย์สินต่างคนต่างทำมาหาได้แยกกัน หรือเป็นมรดกที่ได้รับมาจะถือเป็นสิทธิของฝ่ายนั้นผู้เดียว อีกฝ่ายไม่มีส่วนแบ่งรวมทั้งไม่สามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์ได้
การทำพินัยกรรม
ถ้าทำพินัยกรรมสินส่วนตัวสามารถยกให้ใครก็ได้ตามความพอใจ แต่กับสินสมรส เนื่องจากสามีและภรรยามีสิทธิเป็นเจ้าของสินสมรสร่วมกันคนละครึ่ง จึงไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตัวเองให้แก่บุคคลอื่น ถ้าทำไปพินัยกรรมนั้นจะสมบูรณ์เฉพาะส่วนของตัวเองเท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
formumandme.com
13 ม.ค. 2557
13 ม.ค. 2557
13 ม.ค. 2557
13 ม.ค. 2557